” สิว ” เกิดจากอะไร? หน้าเป็นสิวรักษายังไง? วิธีลดสิว แบบ เอ็มวีต้า คลินิก

สิว สิวอุดตัน สิวอักเสบ วิธีรักษา ไม่เลี้ยงไข้ ในแบบเอ็มวีต้าคลินิกทำอย่างไร?

สวัสดีครับ หมอชื่อหมอเอ็ม หรือนายแพทย์มนตรี อุดมประเสริฐกุล เป็นแพทย์ประจำ เอ็มวีต้าคลินิก ครับ วันนี้หมอจะพูดถึงปัญหาสิวชนิดต่างๆ ทั้งสิวหัวดำ สิวอุดตัน สิวหัวหนอง สิวอักเสบ และวิธีรักษาที่ได้ผล ไม่เลี้ยงไข้ ทำอย่างไร รวมถึงเรื่องของการกดสิว การบีบสิวด้วย ว่าดีหรือไม่ ตามหลักการแพทย์กันนะครับ

หัวข้อที่น่าสนใจ

สิว คืออะไร

สิว คืออะไร เกิดจากอะไร
สิว คืออะไร เกิดจากอะไร

สิว Acne vulgaris เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหน่วยรูขุมขนและต่อมไขมัน (Pilosebaceous gland) โดยจุดที่พบเป็นได้บ่อย ได้แก่บริเวณหน้า คอ และลำตัวส่วนบน เนื่องจากจุดเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่อย่างหนาแน่น หรือที่เรียกว่า Seborrheic area นั่นเองครับ

สิวจะเริ่มปรากฏอาการเมื่อเข้าสู่วัยแตกเนื้อหนุ่มสาว Puberty ซึ่งผู้หญิงมักจะพบเป็นสิวเร็วกว่าผู้ชาย และโดยส่วนใหญ่อาการของสิวมักจะค่อยๆหายไปในช่วงวัยประมาณ 20 ถึง 30 ปี แต่มีบางส่วนที่อาจพบเรื้อรังเป็นๆหายๆจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ครับ

สิวมีความสำคัญ เพราะสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อรูปลักษณ์ ความมั่นใจและมีผลต่อการเข้าสังคมของผู้ที่เป็นด้วยครับ

ระดับความรุนแรงของสิว

สิวเล็กน้อย (Mild Acne)

อาการคือ มีหัวสิวที่ไม่อักเสบ Comedones เป็นส่วนใหญ่

หากมีสิวอักเสบก็จะเป็นสิวอักเสบขนาดเล็กเช่น สิวตุ่มแดง (Papule) สิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนไม่เกิน 10 จุด และไม่พบสิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule)

สิวปานกลาง (Moderate Acne)

จะมีสิวขนาดเล็กเช่น สิวตุ่มแดง (Papule) หรือสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนมากกว่า 10 จุด

อาจพบสิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule) ปริมาณไม่มาก จำนวนไม่เกิน 5 จุด

สิวรุนแรง (Severe Acne)

พบสิวขนาดเล็ก เช่นสิวตุ่มแดง (Papule) หรือสิวหัวหนอง (Pustule) มากมาย

พบสิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule) จำนวนมาก

รักษาสิวกับแพทย์
Line @ : @mvitaclinic

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดของสิวได้แก่

ปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดสิว

1. พันธุกรรมและประวัติการเป็นสิวของคนในครอบครัว

กรรมพันธุ์

พันธุกรรมมีผลในการกำหนดการเป็นสิวของแต่ละบุคคลว่าจะเป็นสิวเมื่อไหร่ และสิวจะรุนแรงหรือไม่ หากคนในครอบครัวของท่านมีท่านใดที่มีปัญหาสิวค่อนข้างเยอะ ตัวท่านเองก็มีแนวโน้มที่จะเกิดสิวได้ง่ายเช่นกันครับ

และหากในครอบครัวมีหลายบุคคลที่มีประวัติเป็นสิวหนักๆ อันนี้ยิ่งสนับสนุนว่าตัวท่านเองน่าจะมีปัญหาสิวจากกรรมพันธุ์ค่อนข้างเยอะด้วยครับ

2. ฮอร์โมน

ฮอร์โมน

ฮอร์โมนตัวสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดสิว คือ ฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งได้แก่ testosterone และ dihydrotestosterone ครับ

ซึ่งฮอร์โมนเพศมักจะเพิ่มขึ้นมาในร่างกายในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักเป็นสิวมากในช่วงวัยนี้ เมื่อผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เช่นอายุประมาณ 18-20 ปี ฮอร์โมนเพศจะมีความสมดุลมากขึ้น และอาการสิวจะค่อยๆทุเลาลงครับ

และในคนไข้ผู้หญิงหลายท่านมักจะมีสิวขึ้นช่วงก่อนรอบเดือน อันนี้ก็เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงก่อนรอบเดือนนั่นเองครับ

หรือคนไข้อีกกลุ่มนึง ที่มีความผิดปกติของระบบฮอร์โมน เกิดเป็นสิวฮอร์โมนขึ้นมาอย่างรุนแรงได้เหมือนกันครับ ซึ่งในส่วนของคนไข้กลุ่มนี้หมออาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในบทความนี้นะครับ

รักษาสิวกับแพทย์
Line @ : @mvitaclinic

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดสิว

1. อาหาร

หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดสิว

งานวิจัยในปัจจุบันนี้พบว่า มีแนวโน้มว่าอาหารประเภทนมและน้ำตาล อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดสิวในบุคคลบางรายที่เป็นสิว

อาหารประเภทนมและน้ำตาลกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง?

  • นมวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมไขมันต่ำ (Low fat milk) นมพร่องมันเนย (Skim milk)
  • อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) สูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ขนมหวาน
  • ช็อกโกแลต เบเกอรี่ ชานมไข่มุก เป็นต้นครับ

2. ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

การทำความสะอาดผิว และ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
การทำความสะอาดผิว และ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสามารถทำให้เกิดสิวได้จากส่วนผสม (Ingredient) ดังนี้

  • ส่วนผสมที่เป็นน้ำมันในสูตร (Oil phase) หากน้ำมันที่เป็นส่วนผสมนั้น เป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดสิวและการอุดตัน (Acnegenic, Comedogenic) ได้ง่าย ก็มีโอกาสที่ใช้แล้วจะเกิดสิวตามมาได้ง่ายเช่นกันครับ

สิวเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุการเกิดสิว

เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาสิวของเอ็มวีต้าคลินิก เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ว่าสิวเกิดขึ้นได้อย่างไร

สาเหตุของสิวนั้นเกิดจากหลายๆปัจจัยที่เกิดร่วมกัน เรียกว่า Multifactorial ด้วย 4 ปัจจัยหลักที่เกิดต่อเนื่องกันและทำให้เกิดสิวขึ้น อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีดังต่อไปนี้

1. ต่อมน้ำมันในรูขุมขนทำงานมากขึ้น

ขับน้ำมัน (sebum) ออกมามากเกินไป  ซึ่งปกติแล้ว สิ่งที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำมัน ไม่ใช่ระบบประสาท แต่เป็นการควบคุม โดยฮอร์โมนซึ่งตัวที่สำคัญที่สุดก็คือฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเจ้าฮอร์โมนกลุ่มนี้ก็มีในทั้งผู้ชายและผู้หญิงนะครับ  นี่เลยเป็นสาเหตุที่ ทำไมเด็กๆถึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสิว แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป ถึงมีสิวเห่อขึ้นมาก ก็เป็นเพราะฮอร์โมนนี่แหล่ะครับ

2. เซลล์ชั้นหนังกำพร้าในรูขุมขน หนาตัวขึ้นผิดปกติ

อาจเกิดจาก มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวที่ถูกอยู่ในท่อรูขุมขนมากเกินไป หรืออาจเกิดจากการอุดตัน ของรูขุมขนจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ เมื่อมีการอุดตันเกิดขึ้น น้ำมันจึงอุดตันกลายเป็นหัวสิว (comedone) อยู่ภายใน ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดก็เป็นฮอร์โมนเพศชายเช่นเดียวกันครับ(เรียกได้ว่า ฮอร์โมนเพศชายเป็นผู้ก่อการร้ายสิวเลยก็ว่าได้นะครับ) แต่นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่น เช่น ส่วนประกอบน้ำมันบางชนิดในเครื่องสำอาง สารเคมีบางอย่าง นี่เลยเป็นสาเหตุที่ครีมบางตัวเราใช้แล้วอุดตันนั่นเองครับ

3. แบคทีเรีย C.acnes

C.acnes (Cutibacterium acnes) (ชื่อเก่า P.acnes : Propionibacterium acnes) เพิ่มจำนวนในบริเวณที่อุดตัน อันที่จริงแล้วแบคทีเรียตัวนี้มีอยู่ในผิวของเราทุกคนอยู่แล้วนะครับ แต่จะอยู่ในปริมาณที่พอดี จึงไม่ทำให้เกิดอาการ

แบคทีเรียตัวนี้ จะกินน้ำมันบนผิวของเราเป็นอาหาร ดังนั้นในสภาวะที่ผิวของเรามีน้ำมันเคลือบอยู่มาก เจ้าแบคทีเรียตัวนี้ก็จะเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเป็นสาเหตุให้สิวเกิดการอักเสบได้ครับ

4. การอักเสบของรูขุมขน

การอักเสบของผิวหนัง ทำให้สิวบวมแดง มีหนองเกิดขึ้น  การที่สิวของเรามีการอักเสบมีหนอง นี่คือปฏิกิริยาของร่างกายของเรา ของผิวของเรา ที่มีต่อ สิวที่อุดตันอยู่ และรวมถึงแบคทีเรียที่เพิ่มจำนวนขึ้น นั่นเองครับ

สิวมีกี่ประเภท

1. สิวที่ไม่มีการอักเสบ หรือ สิวอุดตัน

ชนิดของสิวอุดตัน

สิวอุดตัน (Comedone) คือสิวชนิดที่ไม่อักเสบ (Non inflammatory acne) ที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน (Ductal hypercornification) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดนูนเป็นตุ่มกลมเล็กๆ คล้ายคลำด้วยมือจะสัมผัสได้ถึงก้อนแข็งๆล็กๆใต้ผิวหนัง โดยไม่มีอาการแดง ไม่เจ็บ ไม่บวมครับ

สิวอุดตัน ยังแบ่งแยกย่อยได้เป็นหลายชนิด ดังนี้ครับ

  • สิวผด หรือ สิว ไม่มี หัว Microcomedone มีลักษณะเป็นตุ่มสิวที่เล็กมากๆมักกดด้วยที่กดสิวไม่ออก ส่วนใหญ่สิวชนิดนี้คือสิวอุดตันระยะแรกเริ่ม ซึ่งยังมีขนาดเล็กเกินกว่าจะกดออกได้นั่นเองครับ
  • สิวหัวดำ Blackheads หรือ Open comedone  มีลักษณะเป็นตุ่มสิวอุดตันที่มีจุดดำอยู่ตรงรูเปิดของรูขุมขน เป็นสิวอุดตันที่อยู่ตื้นจนหัวสิวโผล่พ้นรูขุมขนมาสัมผัสอากาศจึงเปลี่ยนเป็นสีดำครับ
  • สิวหัวขาว สิวอุดตันชนิดหัวปิด Whiteheads หรือ Closed comedone  เป็นตุ่มสิวอุดตันลักษณะเป็นเม็ดแข็งสีขาวซึ่งจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อคลำหรือดึงผิวให้ตึง

2. สิวที่มีการอักเสบ

สิวอักเสบ มีกี่ประเภท
  • สิวตุ่มแดง Papule เป็นสิวอักเสบในระยะแรก ตุ่มสิวแดงขนาดเล็ก มีลักษณะเริ่มเจ็บ ขนาดไม่เกิน 0.5 cm
  • สิวหัวหนอง Pustule สิวหัวแดง Papule
  • สิวหัวช้าง Nodule สิวหัวช้าง ก้อนสีแดงภายในมีหนองป่นเลือดบางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกัน
  • สิวซีสต์ Cyst ลักษณะสิวจะเป็นก้อนนูนแดงนิ่มภายในมีหนองปนเลือดบางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกัน

สิวขึ้นบริเวณไหนได้บ้าง

สิวที่คาง

สิวขึ้นคางมักจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน พบได้บ่อยในคนไข้ผู้หญิงช่วงอายุ 20-40 ปีและสิวมักจะอักเสบขึ้นช่วงก่อนรอบเดือนครับ

สิวที่จมูก

สิวที่จมูก ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมน มักพบในคนไข้ที่มีช่วงอายุประมาณ 15-35 ปี โดยมักจะขึ้นเป็นสิวเสี้ยนยกเว้นบางท่านที่มีฮอร์โมนสูงก็อาจขึ้นเป็นหัวสิวอุดตันได้ครับ

สำหรับสิวอักเสบที่จมูกมักพบในท่านที่ชอบบีบสิวเสี้ยน บีบสิวอุดตันที่จมูกบ่อยๆ และบีบไม่ถูกวิธีก็อาจไปกระตุ้นให้สิวบวมอักเสบขึ้นมาได้ครับ

สิวที่หน้าผาก

สิวขึ้นหน้าผากก็เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเช่นกันแต่สิวอุดตันบริเวณหน้าผากมักจะพบในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น 10-20 ปี เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผิวจะค่อยๆมันขึ้นโดยเริ่มจากบริเวณทีโซนก็คือหน้าผากก่อน ดังนั้นสิวจึงขึ้นอุดตันตรงหน้าผากนั่นเองครับ

อีกสาเหตุนึงคือจากปัจจัยภายนอกคือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมเช่น แชมพู ครีมนวดผม แวกซ์หรือสเปรย์ใส่ผม หรือบางท่านอาจทำสีผมดัดผมมา สารเคมีเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน หรือสิวอักเสบได้ครับ

สิวที่ปาก

สิวที่ปากปกติจะพบบริเวณขอบปาก หรือบริเวณรอบๆปากเป็นสิวขึ้นรอบปาก น้อยมากที่จะพบได้บนริมฝีปากครับ

สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  • ทานอาหารที่มันและอาจจะเปื้อนริมฝีปากและขอบปาก : น้ำมันจากอาหารอาจจะไปทำให้เกิดการอุดตันจนกลายเป็นสิวได้
  • การกำจัดขน หนวด เครา : พลังงานจากเลเซอร์อาจทำให้เกิดการอักเสบของรูขุมขนครับ
  • ลิปสติก ลิปบาล์ม ลิปมัน : ส่วนผสมน้ำมันหรือไขมันในลิปทำให้เกิดสิวอุดตันได้เช่นกันครับ

สิวที่แก้ม

สำหรับสิวที่แก้มมักเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียและการอุดตัน จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่

  • การสัมผัสผิวหน้าด้วยมือที่ไม่สะอาดโดยไม่รู้ตัว
  • ปัจจุบันการใส่หน้ากากตลอดเวลาทั้งวันทำให้ผิวมีความอับชื้นซึ่งอาจกระตุ้นให้แบคทีเรียที่ผิวหนังเจริญเติบโตได้ดีขึ้นและเกิดสิวได้ง่ายขึ้นครับ
  • การลงสกีนแคร์ เซรั่ม ครีม กันแดด ลงไพรเมอร์ รองพื้น ลงแป้งฝุ่น บลัชออน คอนซีลเลอร์ และเครื่องสำอางแต่งหน้า เนื่องจากบริเวณแก้มมักเป็นบริเวณที่ต้องทาเครื่องสำอางหลายขั้นตอน และยิ่งทาทั้งไว้ทั้งวัน ร่วมกับการใส่แมส ยิ่งเกิดโอกาสเป็นสิวที่แก้มได้ครับ

สิวที่คอ

สิวที่คอส่วนใหญ่ที่พบสาเหตุมักเกิดจากการทาเครื่องสำอางที่บริเวณคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทำความสะอาดได้ค่อนข้างยาก จึงเกิดการอุดตันขึ้นมา หรือบางท่านอาจจะแพ้ผลิตภัณฑ์เส้นผมโดยเฉพาะท่านที่มีผมยาวครับ

วิธีรักษาสิว

1. การใช้ยารักษาสิวชนิดทา

ยาทาตามแพทย์สั่ง

สำหรับการรักษาสิวด้วยยาลดสิว จะเป็นการรักษาสิวแบบไม่ต้องกดสิว แต่ก็สามารถใช้ร่วมกับการกดสิว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นได้เช่นกันครับ

ยาทารักษาสิว ใช้อะไรดี ในที่นี้หมอจะแนะนำตัวยาแก้สิวชนิดทาที่มีงานวิจัยรับรองว่าสามารถลดสิวอุดตัน และสิวอักเสบได้นะครับ

1. ยาทากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ Topical Retinoids

ใช้เป็นยาทาหลักในการรักษาสิวอุดตันเนื่องจากตัวยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเกิด Microcomidone ซึ่งเป็นสิวอุดตันในระยะแรกเริ่ม

โดยการออกฤทธิ์ช่วยรักษาเรื่อง : ช่วยยับยั้งการอุดตันของรูขุมขน แล้วทำให้สิวอุดตันที่มีอยู่หลวมตัวขึ้นและหลุดออก ดังนั้นจึงทำให้สิวเก่าหลุดไปและทำให้สิวใหม่ขึ้นน้อยลงด้วยครับ นอกจากนี้ตัวยายังช่วยลดการอักเสบของสิวด้วย

ข้อควรระวัง : การทายากลุ่มนี้ หมอแนะนำให้ทายาทั่วบริเวณที่เป็นสิว เช่น ทั่วหน้า ไม่แนะนำให้แต้มเฉพาะจุดนะครับ เพราะยาจะช่วยลดการเกิดสิวใหม่นั่นเองครับผม

ผลลัพธ์การรักษา : 

  • ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์แรกจะค่อยๆรู้สึกได้ว่าสิวอุดตันตื้นขึ้น (บางท่านอาจรู้สึกว่าสิวอุดตันดูเหมือนเยอะขึ้น เพราะสิวตื้นขึ้นจึงดูเด่นชัดขึ้นครับ)
  • ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ถึง 4 จะเริ่มมีสิวอุดตันบางส่วนตื้นขึ้นถึงระดับปากรูขุมขนและหลุดออกไป ในช่วงประมาณเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 3 สิวอุดตันจะหลุดออกไปได้อย่างน้อยประมาณ 50% ครับ

สรุป : การใช้ยากลุ่มนี้ให้เห็นผลควรต้องใจเย็น และใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 เดือนครับ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ตัวยากำลังออกฤทธิ์และค่อยๆขับสิวอุดตันออกมา คือในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไปนั้นบางท่านอาจจะประสบปัญหาเรื่องของสิวอักเสบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดันตัวของสิวอุดตันได้คือบางท่านจะรู้สึกว่าพอใช้ยากลุ่มนี้สักพักนึงสิวอักเสบเห่อขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายๆท่านหยุดใช้ยาในกลุ่มนี้ไปกลางคันครับ

สำหรับยาทาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ Topical Retinoids นี้ปัจจุบันมีหลายตัวที่จำหน่ายในประเทศไทย แต่ละตัวก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันในรายละเอียดครับ ได้แก่

  • TRETINOIN (Retin-A3, Retacnyl)

คุณสมบัติ : ละลายสิวอุดตันได้ดีมาก แต่ระคายเคืองได้ง่าย สำหรับท่านที่ต้องการใช้ยาตัวนี้ หมอแนะนำให้เริ่มต้นที่ความเข้มข้นน้อยๆก่อนครับ (ตัวยานี้มีขนาดความเข้มข้นให้เลือกตั้งแต่ 0.01% 0.025% 0.05% และ 0.1% )

ข้อควรระวัง : สำหรับท่านที่มีผิวค่อนข้าง sensitive หมอไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ครับ

นอกจากนี้ยาทาชนิดนี้ มีความไวต่อแสงเมื่อตัวยาโดนแสงประสิทธิภาพจะลดลงดังนั้นจึงควรทาก่อนนอนครับ

  • ADAPALENE  (Differin) เป็นยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอรุ่นที่ (3 3rd generation Topical Retinoids) มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ Tretinoin แต่มีข้อดีที่เหนือกว่าหลายอย่าง

คุณสมบัติ : ออกฤทธิ์ไวกว่า Tretinoin ตัวยาไม่ไวต่อแสง ระคายเคืองผิวน้อยกว่า จึงเหมาะกับผู้ที่มีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่ายมากกว่าครับ

ข้อควรระวัง : ในช่วงที่ทายากลุ่มนี้อาจทำให้ผิวคนไข้ไวต่อแสงได้ง่ายมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือทายากันแดดอย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ และหมอไม่แนะนำให้ใช้ในคนไข้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรนะครับ ใครตั้งครรภ์อยู่ให้งดไปก่อนนะครับ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายาในกลุ่มนี้เป็นยาที่ช่วยเรื่องสิวได้ดีมาก แต่การใช้คนไข้ควรเข้าใจการทำงานของยา ระยะเวลาที่ควรใช้ ผลข้างเคียงและข้อควรระวังต่างๆเป็นอย่างดี และเลือกผลิตภัณฑ์รวมถึงความเข้มข้นที่เหมาะสมด้วย หรือดีที่สุดควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์จึงจะได้รับผลการรักษาที่ดีนะครับ นอกเหนือจากการใช้ยาทากลุ่มนี้เพื่อรักษาสิวอุดตันแล้ว ยังมีงานวิจัยสนับสนุนการใช้ทาหลังจากสิวหายแล้วต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาของสิวได้ด้วยครับ

2. ยาทากลุ่มเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ Benzoyl Peroxide

เป็นยาทาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยังมีฤทธิ์ละลายสิวอุดตันด้วย แต่อ่อนกว่ายาทากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอครับ

สำหรับยาทาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ หมอแนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบ ครีมหรือเจลที่เป็น Water Base ในความเข้มข้น 2.5% หรือ 5% ให้ทาบางๆทั่วหน้าเช้าเย็นทิ้งไว้แล้วล้างออก เพื่อลดการระคายเคืองผิว ควรเริ่มทาเป็นระยะเวลาสั้นๆเช่น 2 นาทีก่อน จากนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาทายาให้นานขึ้นจะเริ่มเห็นผลจากการรักษาได้เร็วภายใน 5 วันหลังใช้ยาครับ

ผลข้างเคียงของยาทาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์หลักๆจะเป็นเรื่องของการระคายเคือง โดยเฉพาะในความเข้มข้นที่สูงขึ้น ดังนั้นหมอจึงแนะนำให้ใช้ความเข้มข้นน้อยๆ เช่น 2.5% จะดีกว่าครับ

อีกข้อควรระวังที่สำคัญคือ ยาทากลุ่มนี้หากโดนเสื้อผ้าอาจทำให้เกิดสีซีดด่างได้ และหากโดนผมอาจจะทำให้ผมขาวได้ครับ

ยาทากลุ่มเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ สามารถใช้ร่วมกับยาทากลุ่มวิตามินเอเช่น Tretinoin ได้ จะเพิ่ม ประสิทธิภาพในการรักษาสิวแต่การใช้ควรทาแยกเวลากัน เพื่อลดการระคายเคืองและลดปฏิกิริยาระหว่างตัวยาด้วยครับ

ปัจจุบันมียาที่เป็นสูตรผสม เช่น BENZOYL PEROXIDE+ADAPALENE (EPIDUO) ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีและเร็ว นอกจากนี้ยังทาง่ายแต่ควรระวังการระคายเคืองที่อาจมากกว่าการใช้ยาแยกกัน โดยเฉพาะในท่านที่มีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่ายครับ

3. ยาทากรดอะเซเลอิค Azelaic acid

ยาทาตัวนี้ช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C.acnes และมีฤทธิ์ละลายสิวอุดตันได้ด้วยครับ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการรักษารอยดำจากสิว ได้อีกด้วย

ตัวยาจะอยู่ในรูปครีม ความเข้มข้น 20% แบรนด์ที่เป็น original คือ Skinoren วิธีใช้ให้ทาบางๆวันละ 2 ครั้งครับ

ยาตัวนี้อาจทำให้มีอาการคันระคายเคืองได้ในบางท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มทา และไม่เหมาะกับผู้ที่มีสิวอักเสบติดเชื้อนะครับ

4. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทา Topical Antibiotics

สำหรับยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้นจะออกฤทธิ์โดยตรงกับเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดสิวอย่างมาก นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้ยังช่วยลดการอักเสบด้วยจึงเหมาะสำหรับใช้ในคนไข้ท่านที่มีสิวอักเสบ หรือมีแนวโน้มว่าสิวจะเกิดการอักเสบครับ

ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ได้แก่

  1. Topical Clindamycin ซึ่งมักใช้ในรูปเจลหรือโลชั่น เป็นตัวที่นิยมใช้มากที่สุด ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของ C.acnes 
  2. Topical Erythromycin ใช้ในรูปเจลหรือโลชั่น ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ C.acnes แต่นิยมน้อยกว่า Clindamycin เพราะมีรายงานเชื้อดื้อยาถึง 72%
  3. Topical Metronidazole ใช้ในรูปเจลหรือครีม ตัวนี้เหมาะกับสิวแบบโรซาเชีย Rosacea

สำหรับยาในกลุ่มนี้พบปัญหาเรื่องของเชื้อดื้อยาค่อนข้างบ่อย หมอจึงแนะนำว่าไม่ควรใช้รักษาสิวเดี่ยวๆครับ เพราะอาจไม่เห็นผลได้ ให้ใช้ร่วมกับยาสิวตัวอื่นๆ เช่น Benzoyl Peroxide เป็นต้นครับ

5. ยาทากลุ่มกรดซาลิไซลิก Salicylic acid

ยากลุ่มนี้จัดเป็น beta hydroxy acid หรือที่หลายๆท่านอาจเคยได้ยินในชื่อ BHA นั่นเองครับ

กรดซาลิไซลิกเป็นส่วนผสมที่พบได้ในครีมหรือเครื่องสำอางที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์มากมาย โดยมักใช้ที่ความเข้มข้น 0.5 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์

การทำงานของกรดซาลิไซลิกนี้จะยับยั้งการสร้าง comedone ด้วยการผลัดเซลล์ผิว นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบได้ด้วยครับ

ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง และเนื่องจากยากลุ่มนี้มีความเป็นกรดจึงควรระวังเรื่องความระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการใช้ในที่ท่านที่มีผิวแห้งลอกครับ

6. ยาทาที่มีส่วนผสมของกำมะถัน Sulfur

ยาทาที่มีส่วนประกอบของกำมะถันหรือซัลเฟอร์จะมีคุณสมบัติในการละลายสิวอุดตัน ทำให้ผิวแห้งขึ้น จึงสามารถใช้ช่วยรักษาปัญหาสิวอุดตันได้เป็นอย่างดี

2. การใช้ยารักษาสิวชนิดกิน

รับประทานยารักษาสิว

สำหรับการกินยารักษาสิวนั้น ตัวที่นิยมใช้มีดังนี้ครับ

1. ยาปฏิชีวนะ Antibiotics

ยาปฏิชีวนะชนิดกิน ปกติใช้ในการรักษาสิวอักเสบชนิดปานกลางถึงรุนแรง เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ที่ปัจจุบันพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

สำหรับตัวยาที่นิยมใช้ได้แก่

  • Doxycycline หรือ Minocycline เป็นยาฆ่าเชื้อที่แนะนำให้ใช้เป็นลำดับแรก มีประสิทธิภาพช่วยต้านเชื้อ C.acnes  และ ช่วยลดการอักเสบของสิวด้วย
  • Erythromycin หรือ Azithromycin เป็นตัวยาทางเลือกลำดับที่ 2 แนะนำให้ใช้ในคนไข้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่ม Doxycycline ได้ เช่น คนไข้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือท่นนที่แพ้ยา Doxycycline เป็นต้น
  • ยาอื่นๆ เช่น Cotrimoxazole(TMP/SMX), Penicillin, Cephalosporin เป็นตัวยาทางเลือกลำดับที่ 3 ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาลำดับที่ 1 หรือ 2 ได้จริงๆครับ

โดยการให้ทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาสิวนั้นควรใช้ร่วมกับยาอื่นเช่นยาชนิดทาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Benzoyl Peroxide หรือยาทากลุ่ม Retinoids เพื่อป้องกันการดื้อยา

และควรทานยาในกลุ่มนี้อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์จึงจะสามารถประเมินได้ว่าเห็นผลหรือไม่ และระยะเวลาในการทานยาควรอยู่ในช่วง 3 เดือน(หากจำเป็นสามาถทานได้นานมากที่สุดถึง 6 เดือน)ครับ

2. ไอโซเตตริโนอิน Isotretinoin

สำหรับตัวยาที่ช่วยลดการเกิดสิวใหม่ที่ได้ผลดีและมีงานวิจัยรับรองมากที่สุดก็คือตัวยาในกลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ Isotretinoin (13-cis-retinoic acid)  ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยตรงที่ต่อมน้ำมันใต้ผิวทำให้ต่อมน้ำมันมีขนาดเล็กลง สร้างและขับน้ำมันออกมาน้อยลง

นอกจากนี้ตัวยายังออกฤทธิ์ลดการอุดตันของรูขุมขนโดยตรงอีกด้วย และยังมีผลทางอ้อมช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ที่มีส่วนก่อให้เกิดสิว และลดการอักเสบ ดังนั้นสิวใหม่ๆจึงลดลงอย่างชัดเจนครับ

ตัวยาตัวนี้มีประโยชน์มาก อย่างไรก็ตามยาตัวนี้ก็มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ดังนั้นการใช้จึงควรใช้ในคนไข้ที่มีสิวรุนแรงค่อนข้างมาก และควรใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ ที่สำคัญยาตัวนี้ห้ามใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เนื่องจากว่าจะมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ครับ

3. การกดสิว

การกดสิว

การกดสิว (Comedo extraction) เป็นหัตถการที่มีจุดประสงค์เพื่อกำจัดสิวอุดตันออกจากรูขุมขน เนื่องจากว่าหากปล่อยสิวอุดตันไว้อาจทำให้คนไข้รำคาญและมีการบีบหรือแกะสิวได้ และยังอาจเกิดการอักเสบในภายหลังได้อีกด้วย

ซึ่งการกดสิวแนะนำให้ใช้เพื่อรักษาสิวอุดตันเท่านั้นไม่แนะนำให้กดสิวอักเสบเนื่องจากอาจจะทำให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้นได้ ยกเว้นกดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงครับ

การกดสิวแม้จะไม่ใช่การรักษาหลักในการรักษาสิวแต่เป็นสถานการณ์ที่ทำได้บ่อยและสามารถกำจัดสิวอุดตันออกจากผิวหนังได้ทันที

การกดสิวหากทำร่วมกับการรักษาสิวด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการใช้ยาทา ยากินรวมถึงเลเซอร์เพื่อป้องกันการเกิดสิวใหม่แล้ว จะทำให้สิวดีขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆครับ

สำหรับท่านที่มีสิวอุดตันลึกๆหมอแนะนำให้ทายารักษาสิว ตามที่หมอแนะนำไว้ในหัวข้อด้านบนอย่างน้อยสัก 1-3 สัปดาห์ จะทำให้การกดสิวทำได้ง่ายขึ้นครับ

และการกดสิวควรทำโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการกดสิว ไม่ควรทำทำด้วยตัวเองที่บ้านนะครับ และควรใช้อุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดี เพื่อป้องกันการอักเสบของสิวหลังกดด้วยครับ

4. การเลเซอร์สิวและบำบัดด้วยแสง

ถึงแม้ว่าการรักษาสิวด้วยยาทาและยารับประทานยังคงเป็นหลักในการรักษาสิว แต่ปัจจุบันการรักษาสิวด้วยเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง ก็จัดว่าเป็นการรักษาสิวทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาสิวด้วยเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง   โดยเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้จะมีหลักการในการทำงานด้วยการออกฤทธิ์ต่อกลไกการเกิดสิว 2 จุดด้วยกันคือ

  1. ออกฤทธิ์ต่อมน้ำมันใต้ผิว Sebaceous gland
  2. ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว C.acnes

เทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาสิวที่น่าสนใจมีดังนี้ครับ

การบำบัดด้วยแสง

พลังงานในกลุ่มที่เป็นการบำบัดด้วยแสง จะมีลักษณะคือ แสงที่ปล่อยออกมาจะมีหลายช่วงความยาวคลื่น ไม่จำเพาะเจาะจงความยาวคลื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะเป็นช่วงกว้าง เช่น 400-1500 nm เป็นต้น ตัวอย่างของเทคโนโลยีนี้ เช่น IPL Intensed Pulsed Light เป็นพลังงานแสงความเข้มสูง ซึ่งพลังงานจะมีทั้งแสงและความร้อนด้วยจึงสามารถออกฤทธิ์ต่อทั้ง C.acnes และ ต่อมน้ำมัน แต่การรักษาด้วย IPL จะมีข้อจำกัดตรงที่แสงที่ปล่อยออกมามีช่วงคลื่นที่กว้าง (Broad Spectrum) จึงไม่สามาถใช้พลังงานสูงได้ ผลลัพธ์จึงช้ามากกว่าพลังงานในกลุ่มเลเซอร์ครับ

ฉายแสงรักษาสิว
โฟโตนิวมาติกเทอราพี Photopneumatic Therapy

การรักษาที่ต่อยอดมาจาก IPL โดยเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้แรงดันลบ negative pressure  ทำให้เกิดแรงดูด Vacuum(Pneumatics) ที่จะดูดหัวสิวเข้าไป และบีบเอาหัวสิวและหนองออก จากนั้นจึงฉายแสงในช่วงคลื่น 400-1200 nm เพื่อส่งความร้อนไปยังต่อมน้ำมันใต้ผิวครับ และแสงก็ยังฆ่าเชื้อ C.acnes ด้วยครับ

การบำบัดด้วยเลเซอร์

ในกรณีของเลเซอร์จะเป็นเทคโนโลยีที่จะใช้พลังงานแสงในช่วงความยาวคลื่นอย่างใดอย่างหนึ่งจำเพาะเจาะจงเพื่อใช้ในการรักษาปัญหาผิวพรรณต่างๆ การใช้พลังงานในรูปแบบของเลเซอร์นี้จะทำให้เราสามารถรักษาปัญหาผิวได้อย่างจำเพาะเจาะจงและสามารถใช้พลังงานที่สูงมากกว่าการบำบัดด้วยแสงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่าและเฉพาะทางมากกว่าครับ

ข้อดีของการเลเซอร์รอยสิว
ข้อดีของการเลเซอร์รอยสิว

เทคโนโลยีในกลุ่มเลเซอร์มีหลายประเภทที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ครับ

การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ระดับต่ำ Low Level Laser Therapy

คือการฉายแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นจำเพาะเจาะจงอย่างต่อเนื่องไปบนผิวหน้าหรือบริเวณอื่นของร่างกายโดยใช้พลังงานที่ไม่สูงมากนักแต่ฉายเป็นระยะเวลานานพอสมควรเช่น 15-30 นาทีเป็นต้น

สำหรับช่วงความยาวคลื่นที่มีงานวิจัยศึกษารับรับรองผลในเรื่องของการรักษาสิวได้แก่ ความยาวคลื่นช่วงแสงสีน้ำเงิน 415 nm และความยาวคลื่นในช่วงแสงสีแดง 633 nm ซึ่งสามารถทำโดยใช้แสงสีใดสีหนึ่งหรือทำร่วมกันก็ได้ โดยการทำงานของแสงเลเซอร์ใน 2 ช่วงความยาวคลื่นนี้จะออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรีย C.acnes  เป็นหลักประกัน

แสงสีน้ำเงินจะมีข้อดีตรงที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าแต่มีข้อเสียตรงที่ลงสู่ชั้นผิวได้ไม่ลึกเท่าแสงสีแดงครับดังนั้นหากใช้ควบคู่กัน ก็จะได้รับผลจากคุณสมบัติข้อดีของทั้งสองช่วงคลื่นร่วมกันครับ

โฟโตไดนามิก เทอราพี Photodynamic Therapy

เป็นการรักษาที่ต่อยอดมาจากการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ระดับต่ำครับ คือก่อนที่จะทำการฉายแสงแพทย์จะทำการทาตัวยา 5-aminolaevulinic acid (5-ALA) ทั่วหน้าก่อน 1 ชั่วโมงจากนั้นจึงตามด้วยการฉายแสง ตัวยา 5-ALA เมื่อทาจะไปสะสมที่ต่อมน้ำมันใต้ผิว เมื่อฉายแสงตามหลังจึงไปออกฤทธิ์ที่ต่อมน้ำมันโดยตรงครับ

เลเซอร์แสงสีเหลือง

แสงในช่วงคลื่นแสงสีเหลืองในเทคโนโลยีเลเซอร์หลายแบรนด์ เช่น ความยาวคลื่น 577, 578, 595 nm  ต่างมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยรักษาสิวได้ครับ ซึ่งหลักๆแสงในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ครับ

เลเซอร์แสงสีเขียว

แสงในช่วงคลื่นแสงสีเขียวที่ความยาวคลื่น 532 nm ที่เป็น long pulsed คือมีระยะเวลาในการปล่อยแสงที่ยาวนั้น ก็มีงานวิจัยว่าสามารถช่วยรักษาสิวได้เช่นกัน โดยจะออกฤทธิ์ที่แบคทีเรียเป็นหลักครับ ซึ่งหากเทียบกับเลเซอร์แสงสีเหลืองแล้ว สีเขียวจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมเท่าครับ

เลเซอร์แสงอินฟราเรด

แสงในช่วงคลื่นอินฟาเรดที่ความยาวคลื่น 1064 ที่เป็น long pulsed มีงานวิจัยว่าสามารถช่วยรักษาสิวได้โดยออกฤทธิ์ทั้งที่ต่อมน้ำมันใต้ผิวและแบคทีเรีย C.acnes  ครับ

5. การทำความสะอาดผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ทำความสะอาดผิวหน้า

การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวจะช่วยให้ คนไข้ทนต่อผลข้างเคียงของยารักษาสิวที่พบบ่อย เช่น อาการผิวแห้ง แสบ แดง ระคายผิว หรือไวต่อแดด เป็นต้น

  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว : หมอแนะนำให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์แบบที่มีความอ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว Non-irritant ไม่ก่อให้เกิดการแพ้  Non-allergenic ไม่อุดตัน Non-Comedogenic และไม่ก่อให้เกิดสิว Non-acnegenic และไม่แนะนำให้ใช้เป็นแบบสครับครับ
  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว : เพื่อช่วยป้องกันอาการผิวแห้งลอก แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Water-based หรือมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ ไม่ก่อให้เกิดการแพ้  Non-allergenic ไม่อุดตัน Non-Comedogenic และไม่ก่อให้เกิดสิว Non-acnegenic ครับ
  • ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด : ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งแสง Ultra Violet A และ B ไม่อุดตัน Non-Comedogenic และไม่ก่อให้เกิดสิว Non-acnegenic มันไม่มันไม่ถูกต้องเพื่อช่วยลดอาการผิวไวต่อแสงจากการใช้ยารักษาสิวและป้องกันการเกิดรอยดำสิวด้วยครับ

6. การรักษาด้วยฮอร์โมน

รักษาสิวด้วยฮอร์โมน
รักษาสิวด้วยฮอร์โมน

ยาประเภทฮอร์โมนที่ใช้บ่อยในการรักษาสิว คือยาที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศหญิงครับ ซึ่งจะออกฤทธิ์ตรงข้ามกับฮอร์โมนเพศชายที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอย่างนึง

ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม Combined Oral contraceptives ซึ่งถือเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ผู้หญิงเท่านั้น ที่มีสิวระดับปานกลางหรือรุนแรงและไม่ตอบสนองกับการรักษาปกติหรือคนไข้ผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติของต่อมไร้ท่อ Endocrine Acne มีภาวะฮอร์โมนชายสูงผิดปกติ

การรักษาด้วยวิธีนี้จะให้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาสิวอื่นเช่น ยาทารักษาสิวหรือยาปฏิชีวนะชนิดทาน เป็นต้น หรืออาจใช้เป็นทางเลือกในการรักษาสิวในคนไข้ผู้หญิงก่อนให้การรักษาด้วย Isotretinoin ชนิดกินก็ได้ครับ

การรักษาสิวด้วยยาคุมกำเนิด จะเริ่มเห็นผลดีขึ้นหลังได้ทานยาอย่างน้อย 3 เดือนและมักต้องให้นาน 6-12 เดือนจึงจะเห็นผลเต็มที่ครับ

การใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิวมีข้อดีแต่อย่างไรก็ตามก็มีผลข้างเคียงได้เช่นกันดังนั้นการใช้จึงควรอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของแพทย์จะดีที่สุดครับ

7. การรักษาด้วยการคุมอาหาร

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

สำหรับท่านที่สังเกตพบว่าสิวมีความสัมพันธ์กับการทานอาหารบางชนิด เช่น นมไขมันต่ำ ช็อกโกแลต เบเกอรี่ ของหวาน หรืออื่นๆ หมอแนะนำให้พยายามเลี่ยงอาหารดังกล่าวจะช่วยทำให้สิวดีขึ้นได้อีกทางหนึ่งครับ

8. การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม

การรักษาสิวด้วยการปรับพฤติกรรมตัวเอง-01
การรักษาสิวด้วยการปรับพฤติกรรมตัวเอง-01

การปรับพฤติกรรมการดูแลผิวจะช่วยทำให้สิวขึ้นใหม่น้อยลงได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งหมอได้สรุปการปฏิบัติตัวที่แนะนำในช่วงที่เป็นสิวเอาไว้ในหัวข้อข้างล่างแล้วครับ

9. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง

หากได้ลองรักษาสิวด้วยตัวเองบ้างแล้วยังไม่เห็นผลหรือสิวเป็นหนักมากขึ้นกว่าเดิม หมอแนะนำว่าควรเข้ารับการปรึกษาและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนี้รักษาสิวจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับเพื่อให้สิวหายโดยเร็วและไม่ทิ้งรอยตามมาให้ต้องรักษาอีกครับ

รักษาสิวกับแพทย์
Line @ : @mvitaclinic

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นสิว

เมื่อเป็นสิว ควรดูแลอย่างไรในแต่ละวัน:

  • งดบีบ เกา แกะสิวแรงๆ เพราะอาจทำให้สิวกลายเป็นอักเสบรุนแรง และอาจเกิดเป็นแผลเป็นขึ้นได้ครับ
  • งดสัมผัสผิวหน้าบ่อยๆ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก ที่อาจทำให้สิวอักเสบตามมาได้ครับ
  • ดูแลรักษาความสะอาดของผิวหน้าให้ดีที่สุด ควรล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น โดยล้างทั่วหน้าให้เกลี้ยงหมดจด งดแต่งหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
  • หากสิวเป็นไม่มาก อาจรักษาสิวโดยการใช้ยาทา ยากิน แต่หากมีสิวเยอะ หมอแนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุดครับ
  • พยายามอย่าเครียด หรือกังวลกับสิวที่เป็น งดส่องกระจกบ่อยๆ นะครับ

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดสิว

  • ทำความสะอาดผิวอย่างอ่อนโยนด้วยสบู่อ่อนๆ ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง
  • ท่านที่มีผิวมันและมีแนวโน้มเป็นสิวง่าย ให้เน้นการขจัดสิ่งสกปรกหรือเมคอัพ(ในกรณีที่แต่งหน้า)ออกให้หมด
  • ล้างหน้าวันละ 1-2 ครั้งและกรณีที่ออกกำลังกายหลังเสร็จแล้วก็ควรล้างหน้าด้วย หลีกเลี่ยงการขัดถูหรือล้างผิวแรงๆ
  • สระผมทุกวันถ้าผมมัน
  • หวีหรือดึงผมไปด้านหลังเพื่อกันผมออกจากใบหน้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลหรือโทนเนอร์ที่ทำให้ผิวแห้งมาก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • อย่าแต่งหน้าทิ้งไว้ข้ามคืน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว ( Q & A )

Q : สิวหายเองได้ไหม

สิวโดยปกติแล้วสามารถหายเองได้ครับ แต่มีเพียงสิวบางชนิด หากปล่อยทิ้งไว้ให้หายเอง วมักเกิดรอยดำ  รอยแดง หรือ เป็นหลุมตามมาได้ครับ เช่น สิวที่มีลักษณะเป็นไตแข็ง สิวอักเสบเป็นระยะเวลานาน ครับผม

เป็นสิวรักษายังไง

  1. กดสิว
  2. ทายารักษาสิวเฉพาะที่
  3. รับประทานยารักษาสิว
  4. มาส์กหน้ารักษาสิว
  5. เลเซอร์ลดสิว

โดยวิธีการรักษาทั้งหมดนี้ แนะนำควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จะเหมาะสมและให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดครับ

สรุปเรื่องสิว

การรักษาสิวนั้น มีหลากหลายวิธี และสำหรับที่ เอ็มวีต้าคลินิก นั้น หมอได้ผสมผสานวิธีการต่างๆที่ล้วนได้ผลและผ่านงานวิจัยรับรองอย่างชัดเจน เป็นการรักษาแบบองค์รวม ที่รักษาสิวได้ผลอย่างยั่งยืนครับ

ทุกขั้นตอนการรักษาล้วนอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวบาง ระคายเคือง ไม่เป็นการขัดลอกผิวจนสูญเสียโครงสร้าง แต่ตรงกันข้าม การรักษาต้องเป็นการฟื้นฟูชั้นผิว ทำให้ผิวปราศจากสิวใหม่ และยังแข็งแรง มีสุขภาพดีอีกด้วยครับ

เพื่อผลการรักษาที่ยั่งยืน หมอ และพยาบาลของเอ็มวีต้าคลินิกจะมีการให้คำแนะนำในการดูแลผิวที่ถูกต้อง ร่วมด้วยระบบการติดตามผล เพื่อให้สิวหายขาดในระยะยาว ไม่กลับมาเป็นหนักอีก

การรักษาสิวที่เอ็มวีต้าคลินิก เห็นผลชัดเจน จึงถูกกล่าวถึงและแนะนำบอกต่อ จากเพื่อนสู่เพื่อน จากพี่สู่น้อง มาอย่างต่อเนื่องตลอดมาครับ

คุณหมอเอ็มให้กำลังใจคนมีปัญหาสิว สิวอักเสบ ที่ขาดความมั่นใจเรื่องผิวทุกท่านนะครับ ว่ารักษาหายได้ อย่างตรงจุด ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ กลับมาผิวสวย หน้าใส อีกครั้งครับ หมอเอ็ม ยินดีให้คำปรึกษาฟรี!! ครับ

  • เปิด วันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์)
  • อังคาร – ศุกร์ : 11:00 – 20:00 , เสาร์ – อาทิตย์ : 10:00 – 20:00
  • ตั้งอยู่บน ถนน อโศกมนตรี หรือสุขุมวิท 21 ตรงข้ามโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ครับ
  • สามารถจอดรถได้ที่ คอนโด สุขุมวิท ลิฟวิ่ง ทาวน์ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมครับ
  • เดินทางสะดวกได้ง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่มีรถ หรือเลี่ยงรถติด ก็มาง่ายมากๆครับเพราะร้านเรา ใกล้กับ MRT เพชรบุรี ออก Exit 2 เดินมา
  • ทางถนนอโศกมนตรี ประมาณ 200 เมตร ก็ถึง M Vita Clinic แล้วครับ

วันเผยแพร่

ปรึกษาทุกปัญหาความงามกับคุณหมอโดยตรง

    ชื่อ-สกุล*:

    เบอร์ติดต่อกลับ*:

    อีเมล์สำหรับส่งข้อมูล *

    เพศ:

    ชายหญิง

    อายุ (ปี):


    ต้องการปรึกษาคุณหมอเรื่องใด*:

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ สามารถศึกษา นโยบายความเป็นส่วนตัว และจัดการความเป็นส่วนตัว ได้ที่ ตั้งค่า

    ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    ยอมรับทั้งหมด
    จัดการความเป็นส่วนตัว
    • เปิดใช้งานตลอด

    บันทึกการตั้งค่า